นอนหลับ…มหันตภัยเงียบของคนเมือง

คนเราใช้เวลาในการนอนหลับ 1 ใน 3 ของชีวิต หรืออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีภัยเงียบจากการนอนซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและเป็นปัญหาของคนเมืองได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ความขัดแย้งในการนอน เมื่อตารางการทำงานหรือกิจกรรมในชีวิตมีมากกว่าการนอนหลับ ส่งผลให้การนอนในแต่ละวันมีจำนวนน้อยลง ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าประชากรนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 38.6 ล้านคนเป็น 70.1 ล้านคน ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจาก ปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การทำงานแข่งขันกัน และความเครียด เป็นต้น ทั้งนี้แพทย์และนักวิจัยของสหรัฐยังมีความขัดแย้งกันอยู่บ้าง เนื่องจากแพทย์ยืนยันว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุดคือ 8 ชั่วโมงต่อวันสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และผู้ใหญ่ 7 ชั่วโมงต่อวัน แต่นักวิจัยจากสมาคม American Academy of Sleep Medicine ยืนยันว่าการนอนเพียง 5 ชั่วโมงสามารถทำได้ และถ้าได้มีเวลางีบหลับระหว่างวัน 15-20 นาที ก็ไม่ได้ทำให้เครียดมากขึ้น ซึ่งอ้างอิงมาจากการงีบหลับของนักกีฬาระดับอาชีพ โดยบริษัทบางแห่งอย่าง กูเกิ้ล หรือ ไนกี้ เล็งเห็นความสำคัญของการงีบหลับด้วยการจัดห้องพักไว้ให้พนักงาน โดยไม่คิดว่าเป็นปัญหาแต่จะช่วยฟื้นฟูสมองจากความเหนื่อยล้าและไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ในบางประเทศอย่าง สเปน เคยออกกฎหมายให้ประชากรทุกคนนอนหลับช่วงกลางวันนานถึง 3 ชั่วโมง แต่กลับต้องยกเลิกไป เพราะเกิดผลกระทบหลายฝ่ายโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจระดับประเทศ หรือในเวียดนาม เคยมีวัฒนธรรมการนอนที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส ปัจจุบันถูกยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว เนื่องจากหลายบริษัทที่เข้าไปลงทุนยังยึดถือเวลาการทำงานปกติ หรือตามกฎหมายแรงงานของไทย จะพักได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ทำให้การนอนระหว่างวันจึงไม่ได้ถูกผลักดันเป็นกฎหมาย เพราะยังเชื่อว่าหากนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน และดูแลร่างกายให้พร้อมในการทำงาน ก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

หลับใน ฆ่าชีวิตคนได้

อุบัติเหตุจากการจราจร ทำให้คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 36.2 คนต่อประชากรแสนคน จากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก แม้ว่าสาเหตุหลักในการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนไทยจะมาจากการดื่มสุราและการขับรถเร็วเกินกำหนดทั้งที่มีการรณรงค์จากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ 7 วันอันตรายที่ผ่านมา อุบัติเหตุที่เกิดจากการหลับใน ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 โดยปี 2559 ช่วง 29 ธ.ค. 58 – 4 ม.ค. 59 มีจำนวน ร้อยละ 2.84 และปี 2560 ช่วง 29 ธ.ค. 59 -4 ม.ค. 60 มีจำนวน ร้อยละ 2.53 ก็จัดว่าเป็นภัยเงียบที่ห้ามมองข้ามโดยเด็ดขาด อันตรายต่อชีวิตเมื่อนอนไม่พอ

เมื่อนอนไม่พอในแต่ละวัน อาจจะทำให้เกิดอาการง่วงระหว่างวัน ส่งผลต่อความผิดพลาดในการตัดสินใจ อารมณ์แปรปรวน การตอบสนองช้าลงต่อสิ่งเร้าภายนอก และเกิดอาการวูบหลับได้ หรือเมื่อนอนเพียงพอแล้ว 7-8 ชั่วโมง แต่ยังมีอาการง่วงระหว่างวันอยู่ อาจจะเกิดจากความผิดปกติที่มาจากการนอนไม่มีคุณภาพ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การนอนกรน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดตันร่วมด้วย ในบางรายต้องเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือหากนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วน โรคซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง เป็นการเพิ่มอัตราการเกิดโรคและการเสียชีวิตมากขึ้นไปอีก

นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

ตัวเราเองอาจจะคิดว่านอนพอแล้ว ร่างกายยังไหว ไม่รบกวนผู้ที่นอนด้วย แต่ถ้ากำลังมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นจัดว่าคุณกำลังพาตัวเองไปสู่ความเสี่ยง อย่างน้อยถ้าหากรู้ตัวว่าจำเป็นต้องนอนน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน นอนหลับๆ ตื่นๆ นอนยาก สะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆ หรือนอนกรนเสียงดังจนเป็นที่น่ารำคาญ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งในปัจจุบันทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีให้บริการรักษาด้านนี้ หรือสามารถปรึกษาปัญหาเบื้องต้นกับ สมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย ที่เบอร์โทร 062-436-3887 เพื่อจะได้หาวิธีการดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี แม้ว่าการนอนหลับไม่เพียงพอสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเข้านอนให้ตรงเวลา ลด ละ เลิก โซเชียลทุกช่องทางก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที งดอาหารก่อนนอน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารหนักหรือกาแฟ เพื่อจะได้ไม่เป็นการรบกวนชั่วโมงการนอนหลับ และช่วยลดความเสี่ยงได้ ทั้งความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงนอน หากเริ่มหันมาใส่ใจก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.bltbangkok.com/article/info/10/160

http://www.bltbangkok.com/article/info/10/160

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top